พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ครองราชย์ 7 กันยายนพ.ศ. 2352 - 21 กรกฎาคมพ.ศ. 2367) พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 2 ในราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) พระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 5 ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสวยราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง ปีพ.ศ. 2352 - 2367 ขณะมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา
พระนามเต็ม[แก้]
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระนามเต็มเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งเหมือนกับพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกันในแต่ละพระองค์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 2 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงโปรดให้สร้างอุทิศถวาย[1] และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่เป็นพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐ มเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยารัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาไลย[2]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เฉลิมพระนามใหม่เป็นพระบาทสมเด็จพระรามาธิดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย[3]
ครองราชสมบัติ[แก้]
เมื่อถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุได้ 73 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้นานถึง 27 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 2 ได้ย้ายมาทำพิธีที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทอันเป็นสถานที่ทำพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่ ในรัชกาลต่อ ๆ มาจึงใช้หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นสถานที่จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพ หลังจากเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี
ด้านกวีนิพนธ์[แก้]
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับการยกย่องว่า เป็นยุคทองของวรรณคดีสมัยหนึ่งเลยทีเดียว ด้านกาพย์กลอนเจริญสูงสุด จนมีคำกล่าวว่า "ในรัชกาลที่ 2 นั้น ใครเป็นกวีก็เป็นคนโปรด" กวีที่มีชื่อเสียงนอกจากพระองค์เองแล้ว ยังมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สุนทรภู่ พระยาตรัง และนายนรินทรธิเบศร์ (อิน) เป็นต้น พระองค์มีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย ทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละครทั้งละครในและละครนอก มีหลายเรื่องที่มีอยู่เดิมและทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อให้ใช้ในการแสดงได้ เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา โดยเรื่องอิเหนานี้ เรื่องเดิมมีความยาวมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นเรื่องยาวที่สุดของพระองค์ วรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องให้เป็นยอดบทละครรำที่แต่งดี ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อความ ทำนองกลอนและกระบวนการเล่นทั้งร้องและรำ นอกจากนี้ยังมีละครนอกอื่นๆ เช่น ไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ หลวิชัยคาวี มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย ได้ทรงเลือกเอาของเก่ามาทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่บางตอน และยังทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์โขนอีกหลายชุด เช่น ชุดนางลอย ชุดนาคบาศ และชุดพรหมาสตร์ ซึ่งล้วนมีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอมตะใช้แสดงมาจนทุกวันนี้
ด้านปฏิมากรรม /ประติมากรรม[แก้]
นอกจากจะทรงส่งเสริมงานช่างด้านหล่อพระพุทธรูปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังได้ทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งไทยด้วยพระองค์เอง ซึ่งลักษณะและทรวดทรงของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบอย่างที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 2 นี้เอง ส่วนด้านการช่างฝีมือและการแกะสลักลวดลายในรัชกาลของพระองค์ได้มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก และพระองค์เองก็ทรงเป็นช่างทั้งการปั้นและการแกะสลักที่เชี่ยวชาญยิ่งพระองค์หนึ่งอย่างยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ นอกจากฝีพระหัตถ์ในการปั้นพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลกแล้ว ยังทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม คู่หน้าด้วยพระองค์เองร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี และทรงแกะหน้าหุ่นหน้าพระใหญ่และพระน้อยที่ทำจากไม้รักคู่หนึ่งที่เรียกว่าพระยารักใหญ่ และพระยารักน้อยไว้ด้วย
ด้านดนตรี[แก้]
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ไม่น้อยไปกว่าด้านละครและฟ้อนรำ เครื่องดนตรีที่ทรงถนัดและโปรดปรานคือ ซอสามสาย ซึ่งซอคู่พระหัตถ์ที่สำคัญได้พระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" และเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ "เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลัน (เลื่อน) ลอยฟ้า" แต่ต่อมามักจะเรียกว่า "เพลงทรงพระสุบิน" เพราะเพลงมีนี้มีกำเนิดมาจากพระสุบิน (ฝัน) ของพระองค์เอง โดยเล่ากันว่าคืนหนึ่งหลังจากได้ทรงซอสามสายจนดึก ก็เสด็จเข้าที่บรรทมแล้วทรงพระสุบินว่า ได้เสด็จไปยังดินแดนที่สวยงามดุจสวรรค์ ณ ที่นั่น มีพระจันทร์อันกระจ่างได้ลอยมาใกล้พระองค์ พร้อมกับมีเสียงทิพยดนตรีอันไพเราะยิ่ง ประทับแน่นในพระราชหฤทัย ครั้นทรงตื่นบรรทมก็ยังทรงจดจำเพลงนั้นได้ จึงได้เรียกพนักงานดนตรีมาต่อเพลงนั้นไว้ และทรงอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ได้ เพลงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันกว้างขวางมาจนทุกวันนี้
เสด็จสวรรคต[แก้]
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริรวมพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น