พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2485 ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ 25 พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณวชิราวุธวิทยาลัย[2]
ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก[3]
เนื้อหา
พระราชประวัติ
พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ณ พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังชั้นใน[4] มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนนี 7 พระองค์ คือ
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. 2421-2430)
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2423-2468)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (พ.ศ. 2424-2430)
- จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2425-2463)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. 2428-2430)
- พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. 2432-2467)
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. 2435-2466)
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2436-2484)
แม้ตอนประสูติ พระราชชนนียังดำรงพระยศเป็น พระราชเทวีอยู่ ยังมิได้ดำรงพระยศ พระอัครมเหสี แต่ตามขัตติยราชประเพณีในรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสธิดาดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมทุกพระองค์ พระอิสริยยศเดิมของพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อม เมื่อพระชนมพรรษาเจริญครบเดือน สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ แต่ยังมิได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียกว่า "ลูกโต" พระประยูรญาติในพระราชสำนักดำเนินรอยตามพระบรมราชอัธยาศัยเรียกพระองค์ท่านว่า "ทูลกระหม่อมโต"[5]
ต่อมาเมื่อพระชนมพรรษาย่างขึ้น 9 พรรษาในปี พ.ศ. 2431 ทรงรับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี[6][7] ทรงดำรงพระเกียรติยศเป็นลำดับที่สองรองจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
การศึกษา
ในขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาในพระบรมมหาราชวัง โดยมีหม่อมเจ้าประภากร, พระยาศรีสุนทรโวหาร และ พระยาอิศรพันธุ์โสภณ เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาไทย ส่วนวิชาภาษาอังกฤษนั้นทรงศึกษากับนายโรเบิร์ต มอแรนต์ (อังกฤษ: Robert Morant)[8] ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 พระชนมายุได้ 12 พรรษาเศษ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อ ณ อังกฤษ ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ ณ อังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกจึงโปรดฯให้สถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็น สยามมกุฎราชกุมาร สืบแทนสมเด็จพระเชษฐา[9][10]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษหลายแขนง ทางทหารทรงสำเร็จการศึกษาจากแซนเฮิสต์แล้วเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบาเดอรัม ทางด้านพลเรือนทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมาย ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ระหว่างปี พ.ศ. 2442 - พ.ศ. 2444[11] แต่เนื่องด้วยทรงพระประชวรด้วยพระโรคอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ มีพระอาการมากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ทรงพลาดโอกาสที่ได้รับปริญญา ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยเสด็จในฐานะผู้แทนพระองค์ไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทั้งในประเทศอังกฤษและประเทศใกล้เคียง เสด็จนิวัตพระนครตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถโดยเสด็จผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ถึงกรุงเทพมหานครเมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2445[12]
ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนปี พ.ศ. 2447 เสด็จออกทรงพระผนวชตามราชประเพณี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับอยู่ประจำวัด ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2449 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจในราชกิจที่จะรักษาพระนครไว้แด่พระองค์ เป็นการรับสนองพระเดชพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยเป็นที่สุดด้วยระหว่างทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นี้ ทรงรับเป็นประธานการจัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งงานสำคัญบรรลุโดยพระราชประสงค์อย่างดี[13]
การขึ้นครองราชย์
เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตลงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทั้ง ๆ ที่พระองค์นั้นได้รับการสถาปนาตั้งไว้ในพระรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 แต่ก็ทรงเศร้าสลด ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะแลกสิริราชสมบัติสำหรับพระองค์เองกับการสูญเสียพระชนมชีพของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนกระทั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งทรงเป็นทูลกระหม่อมอาแท้ ๆ ทูลเชิญเสด็จลงที่ห้องแป๊ะเต๋งบนชั้น 2 พระที่นั่งอัมพรสถาน และท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ชุมนุมอยู่ ทูลกระหม่อมอา ได้คุกพระชงฆ์ลงกับพื้นกราบถวายบังคมอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมเด็จเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทันใดทุกท่านที่ชุมนุมอยู่ที่นั้น ก็ได้คุกเข่าลงกราบถวายบังคมทั่วกัน[14]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุทธสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ อรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"[15]
การส่งทหารเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1
ในตอนแรกไทยรักษาความเป็นกลางอย่างมั่นคงแต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจและติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิดพระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลในการให้ประเทศไทยประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะจะมีผลดีในการที่ประเทศไทยจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น ขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับนานาประเทศ จึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประกาศกระแสพระบรมราชโองการประณามว่า “เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายละเมิดเมตตาธรรมของมวลมนุษย์ มิได้มีความนับถือต่อประเทศเล็ก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นผู้ก่อกวนความสุขของโลก” ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ
การสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวมพระชนมพรรษาได้ 45 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา แต่รัชกาลที่ 7 มีพระราชประสงค์กำหนดวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน และถือว่าวันพระมหาธีรราชเจ้าตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน[16] ส่วนพระบรมราชสรีรางคารได้เชิญไปประดิษฐาน ณ.วัดบวรนิเวศวิหาร และเชิญไปประดิษฐาน ณ.พระปฤศฤๅงค์ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ส่วนพระบรมอัฐิส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ.พระวิมานองค์กลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ อีกส่วนหนึ่งเชิญไปประดิษฐาน ณ.พระวิมานพระอัฐิ วังรื่นฤดี ของ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียว
ชีวิตส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ยังการหมายหมั้นจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา (พระองค์หญิงกลาง) พระธิดาองค์กลางในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ถึงกับมีการหมายหมั้นว่าพระองค์เจ้าหญิงนี้จะได้เป็นสมเด็จพระราชินีในอนาคต แต่หลังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศก็มิได้สนพระทัยในพระองค์เจ้าหญิงนัก[17]
ต่อมาเมื่อพระองค์ได้เสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ. 2453 หลังจากนั้นอีกหลายปีพระองค์ได้พบกับหม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ (ท่านหญิงเตอะ) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรกที่ห้องทรงไพ่บริดจ์ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามของพระธิดาในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โดยพระนามของหม่อมเจ้าวรรณวิมล เปลี่ยนเป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี พร้อมกับขนิษฐาอีก 4 พระองค์ ที่รวมไปถึงหม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ (ท่านหญิงติ๋ว) ก็ได้รับพระราชทานนามเป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ และต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการสถาปนาหม่อมเจ้าวัลลภาเทวี วรวรรณ ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[18] แต่ด้วยมีเหตุพระราชอัธยาศัยไม่ต้องกัน จึงมีพระบรมราชโองการถอนหมั้นลงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี[19]
ก่อนการถอนหมั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อภิเษกสมรสกับนางสาวประไพ สุจริตกุล เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2464 และได้มีราชทินนามเป็นพระอินทราณี[20] ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายนปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์ก็ได้สถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ วรวรรณ พระขนิษฐาของอดีตพระวรกัญญาปทานขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ[21] พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่าจะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรสในภายหน้า[22] และวันที่ 27 ตุลาคม ของปีนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล พี่สาวของพระอินทราณี[23] และอดีตนางสนองพระโอษฐ์ในอดีตพระวรกัญญาปทาน[24] ได้รับการแต่งตั้งมีราชทินนามเป็น พระสุจริตสุดา[25] แต่ก็มิได้ตั้งครรภ์ตามพระราชประสงค์
ด้วยเหตุที่พระอินทราณีได้ตั้งครรภ์ จึงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรราชชายาเธอ[26] และพระบรมราชินี[27] ตามลำดับ แต่ในปลายปีเดียวกันนั้นก็ได้สถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ[28] แต่ทั้งสองพระองค์มิได้อภิเษกสมรสหรือมีโอรสธิดาด้วยกัน ท้ายที่สุดจึงตัดสินพระทัยแยกกันอยู่
แต่ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีได้ทรงแท้งพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงล้มเหลวต่อการมีพระราชโอรสสืบราชบัลลังก์ จนในปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนานางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา[29] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2468 ได้มีการเขียนพระราชพินัยกรรมขึ้น โดยได้เขียนไว้ว่าว่าห้ามนำพระอัฐิของพระองค์ตั้งคู่กับพระอัฐิของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากจะตั้งก็ให้ตั้งคู่กับสุวัทนา เพราะทรงยกย่องว่าเป็น "เมียดีจริงๆ" และยังเป็นที่ทรงหวังว่าจะมีพระราชโอรสสืบไปได้[30] และด้วยเกิดเหตุหลายประการเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี อันมีเรื่องการตกพระครรภ์หลายครั้ง เป็นเหตุผลประการหนึ่ง จึงมีการลดพระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ลงเป็นพระวรราชชายาแทน เมื่อวันที่ 20 กันยายน[31][32] ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะประสูติกาลพระบุตรในไม่ช้า ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"[33]
แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักและมีพระอาการรุนแรงขึ้น ในยามนั้นพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”[34] จนรุ่งขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต[34]
ส่วนพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468[35]โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”[34] ต่อมาเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา พร้อมด้วยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480[36] จนในปี พ.ศ. 2501 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ นิวัติกลับประเทศไทยเป็นการถาวรและประทับที่วังรื่นฤดีร่วมกัน[36] ท้ายที่สุด สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิตเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา[37] ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชนมายุได้ 85 พรรษา[38]
รายพระนามพระภรรยาเจ้าและพระสนม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระมเหสี และพระสนม รวมทั้งหมดสามพระองค์กับหนึ่งท่าน ไม่มีพระราชโอรส และมีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์
พระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระวรราชเทวี (พระอัครมเหสี) | ||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | ชาติตระกูล | พระราชธิดา | |
---|---|---|---|---|
1. พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (เครือแก้ว อภัยวงศ์) | ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณหญิงเล็ก บุนนาค | |||
พระภรรยาเจ้า (ชั้นหลานหลวง) ตำแหน่งพระนางเธอ | ||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | ชาติตระกูล | พระราชโอรสพระราชธิดา | |
2. พระนางเธอลักษมีลาวัณ (หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ) | พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับ หม่อมหลวงตาด วรวรรณ | ไม่มี | ||
พระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระวรราชชายา | ||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | ชาติตระกูล | พระราชโอรสพระราชธิดา | |
3. สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา (ประไพ สุจริตกุล) | ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับ ท่านผู้หญิงกิมไล้ สุจริตกุล | สมเด็จเจ้าฟ้า (ตกไม่เป็นพระองค์) สมเด็จเจ้าฟ้าชาย (สิ้นพระชนม์แต่แรกประสูติ) สมเด็๋จเจ้าฟ้า (ตกไม่เป็นพระองค์) | ||
พระสนม | ||||
รูป | บรรดาศักดิ์ | ชาติตระกูล | พระโอรสพระธิดา | |
4. พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) | ธิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุจริตกุล | ไม่มี | ||
อดีตพระคู่หมั้น | ||||
รูป | บรรดาศักดิ์ | ชาติตระกูล | พระโอรสพระธิดา | |
4. พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี วรวรรณ) | พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา | ไม่มี |
รายพระนามพระราชโอรสและพระราชธิดา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งหมด 1 พระองค์ ที่ทรงมีพระชนม์ โดยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ได้ให้ประสูติกาลพระราชบุตรถึง 3 หน แต่ก็ทรงตกพระโลหิตเสียหมด ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ที่ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ประสูติในพระมหาเศวตฉัตร | |||||
พระฉายาลักษณ์ | พระนาม | พระมารดา | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | พระชันษา |
---|---|---|---|---|---|
1. สมเด็จเจ้าฟ้า[note 1] | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | ไม่เป็นพระองค์ ตกเมื่อ พ.ศ. 2465 ปีจอ[39][40] | |||
2. สมเด็จเจ้าฟ้าชาย[41] | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ปีกุน[41] | สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ[note 2] | ||
3. สมเด็จเจ้าฟ้า[39][40] | สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา | ไม่เป็นพระองค์ ตกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2468 ปีฉลู[note 3] | |||
2. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดา | พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี | วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ปีฉลู | วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีเถาะ | 85 ปี |
พระราชกรณียกิจ
ด้านการศึกษา
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชทานนาม โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของเชียงใหม่ และพระราชทานนาม โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2449 ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกา ซึ่งไม่เป็นเพียงแต่การนำรูปแบบการศึกษาตะวันตกมายังหัวเมืองเหนือเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้ด้วย[42] เห็นได้จากการเสด็จประพาสมณฑลพายัพทั้งสองครั้งระหว่าง พ.ศ. 2448-2450 พระองค์ได้ทรงสนพระทัยในกิจการโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ทั้งสิ้น โดยพระองค์ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" และ "ลิลิตพายัพ"[42] ทั้งนี้ เป้าหมายของการจัดการศึกษายังแฝงประโยชน์ทางการเมืองที่จะให้ชาวท้องถิ่นกลมเกลียวกับไทยอีกด้วย[42]
พระองค์ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และในปี พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
ด้านการเศรษฐกิจ
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456 ขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์และเพื่อความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังทรงริเริ่มก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขึ้น
ด้านการคมนาคม
ในปี พ.ศ. 2460 ทรงตั้งกรมรถไฟหลวง และเริ่มเปิดการเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ สายใต้จากธนบุรีเชื่อมกับปีนังและสิงคโปร์ อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม 6 เพี่อเชื่อมทางรถไฟไปยังภูมิภาคอื่น
ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย
ทรงตั้งกรมมหรสพ เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย และยังได้ทรงสร้างโรงละครหลวงไว้ในพระราชวังทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังทรงสนพระราชหฤทัยด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมไทย
ด้านการต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายเยอรมัน ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารไทยอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรปด้วย ผลของสงครามประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเจรจากับประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต สนธิสัญญาจำกัดอำนาจการเก็บภาษีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สนธิสัญญาจำกัดอำนาจกลางประเทศไทย
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวชิรพยาบาลเมื่อ พ.ศ. 2455 และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อ พ.ศ. 2457 และทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457
ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
ทรงจัดตั้งกองเสือป่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 และทรงจัดตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ด้านการฝึกสอนระบอบประชาธิปไตย ทรงทดลองตั้ง "เมืองมัง" หลังพระตำหนักจิตรลดาเดิม ทรงจัดให้เมืองมัง มีระบอบการปกครองของตนเองตามวิถีทางประชาธิปไตย รวมถึงเมืองจำลอง "ดุสิตธานี" ในพระราชวังดุสิต (ต่อมาทรงย้ายไปที่พระราชวังพญาไท)
ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์
ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งหนังสือ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติวรรณคดีสโมสร สำหรับในด้านงานหนังสือพิมพ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสมุด เอกสาร พ.ศ. 2465 ขึ้น
พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ
พระราชลัญจกรประจำพระองค์
พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระวชิระ ซึ่งมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มหาวชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นศาตราวุธของพระอินทร์ พระราชลัญจกรพระวชิระนั้น เป็นตรางา รูปรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. มีรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง[43]
พระพุทธรูปประจำพระองค์
- พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก 7 เศียร ประทับใต้ต้นจิก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2453 สร้างด้วย ทองคำลงยาประดับอัญมณี ความสูงถึงยอดต้นจิก 20.70 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ.หอพระ วิมานองค์ขวา พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- พระพุทธรูปประจำรัชกาล สร้างราว พ.ศ. 2468-2475 หน้าตักกว้าง 7.5 ซ.ม. สูงเฉพาะองค์พระ 12 ซ.ม. สูงรวมฉัตร 39 ซ.ม. สร้างด้วยทองคำ ภายใต้ฉัตรปรุทอง 3 ชั้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
- เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน (ร.ด.ม.(ผ))
- เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[44]
- เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1
- เหรียญราชรุจิรัชกาลที่ 6
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น